ไมเกรน (Migraine)

อาการปวดศีรษะแบบตุบๆ มักจะเกิดข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ จะปวดบริเวณเดิมซ้ำๆ และมักมีอาการปวดบริเวณกระบอกตาร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มักเกิดจากความเครียด แสงกระทบ การพักผ่อนไม่เพียงพอ

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

อาการปวดบริเวณคอ บ่า สะบักจนถึงหลัง บางครั้งมักมีร้าวขึ้นศีรษะ ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง มักพบปวดร้าวชาไปที่แขนและนิ้วมือร่วมด้วย

หัวไหล่ติด (Frozen Shoulder)

อาการเจ็บหรือปวดขณะเคลื่อนไหว ขยับหัวไหล่ได้ลำบาก รู้สึกเจ็บปวดในลักษณะตื้อ ๆ ปวดตุบ ๆ บริเวณด้านนอกของหัวไหล่และต้นแขนในบางราย โดยจะปวดมากในช่วงแรกและเมื่อมีการขยับแขน มีอาการข้อติด ทำให้เคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ลำบาก ทั้งการขยับด้วยตนเองหรือมีคนช่วย โดยอาการไหล่ติดจะแบ่งออกเป็นมี 3 ระยะ

เข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

อาการเจ็บปวดและรู้สึกขัดที่ข้อเข่า ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก รวมไปถึงเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวนาน ๆ ก็อาจทำให้เจ็บปวดและรู้สึกฝืดขัดที่ข้อเข้าได้เช่นกัน เกิดจากกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ปกป้องส่วนปลายกระดูกข้อต่อเสื่อมลง ซึ่งทำให้เกิดอาการดังกล่าว รวมถึงปัจจัยจาก อายุ การบาดเจ็บ กรรมพันธุ์ และความเสื่อมของร่างกาย

ปวดหลังเรื้อรัง (Low back pain)

อาการปวดเมื่อย ตึง ร้าว หรือเจ็บที่หลัง สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่บริเวณคอลงไปจนถึงก้นและขา อาจเกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ยืน เดินหรือนั่งผิดท่า ยกของหนัก อุบัติเหตุ การกระแทก การเล่นกีฬา และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงาน

นิ้วล็อค (Trigger Finger)

อาการที่นิ้วเกิดติด ขัด ล็อคเมื่องอนิ้ว แล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ นิ้วจึงเกิดอาการล็อค ไม่สามารถกลับมายืดตรงได้ตามปกติ มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การถือของนานๆ ทำสวน การเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

เอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain's Tenosynovitis)

อาการปวดข้อมือทางด้านข้างบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ อาจพบอาการปวดร้าวไปที่แขน จะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อมือหรือนิ้วหัวแม่มือซ้ำๆ เช่น ยกของหนัก หรือบิดข้อมือในท่าเดิมนานๆ และอาการปวดจะลดลงเมื่อถูกพักการใช้งาน

ปวดข้อศอก (Tennis elbow/Golfer elbow)

อาการปวดข้อศอกบริเวณด้านนอกหรือด้านใน ไม่สามารถขยับข้อศอก เหยียดงอ หรือหมุนแขนได้สุด อาจพบอาการบวม แดง ร้อนบริเวณศอก และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

รองช้ำ (Plantar Fasciitis)

อาการปวดฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้า มีลักษณะปวดแปล๊บ ปวดสะดุ้งขณะเดินลงน้ำหนัก แต่อาการปวดจะค่อยๆ ลดลงหลังเดิน 2-3 ก้าว และปวดมากขึ้นในการกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง

อัมพฤกษ์-อัมพาต
(Cerebrovascular accident ; CVA)

อาการของโรคหลอดเลือดในสมอง หรือ Stroke เกิดจากการที่เซลล์สมองขาดเลือด โดยมีสาเหตุจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ อุดตันหรือแตก มักจะมีอาการกระด้างทั้งตัว กระด้างครึ่งซีก ซ้าย ขวา บน ล่าง กระด้างเฉพาะที่ เช่น แขน ขา

ข้อต่อและเส้นเอ็น (Joint and Tendon)

กลุ่มอาการที่เกิดปัญหาที่ข้อต่อและเส้นเอ็น มีอาการปวด และลงน้ำหนักบริเวณนั้นไม่ได้หรือมีอาการบวมอักเสบ จนอาจจะต้องผ่าตัด ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

ฟื้นฟูสุขภาพเฉพาะบุคคล (Rehabilitation)

อาการลมติดขัดภายในร่างกายที่มากกว่า 1 ตำแหน่ง ส่งผลให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วทั้งร่างกาย มักเกิดได้กับคนทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สุงอายุ

อบไอน้ำสมุนไพร (Herbal Steam)

การอบไอน้ำสมุนไพร ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด บำรุงผิวพรรณให้ผุดผ่อง ของเสียถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางเหงื่อ อีกทั้งยังลดการปวดเมื่อยตามร่างกาย คลายความเครียดและบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกได้อีกด้วย

การดูแลมารดาหลังคลอด (Postpartum Care)

การดูแลมารดาหลังคลอด เป็นการส่งเสริมฟื้นฟูร่างกายมารดาหลังคลอดให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย อีกทั้งยังช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา มีวิธีในการดูแล ดังนี้

  • หัตถเวชกรรมแผนไทย
  • ทับหม้อเกลือ
  • ประคบความร้อน
  • อบไอน้ำสมุนไพร

การดูแลเต้านม (Breast Care)

การดูแลเต้านม สำหรับมารดาหลังคลอดเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณรอบเต้านม ทำให้น้ำนมไหลได้สะดวก น้ำนมมาเยอะ อีกทั้งยังช่วยป้องกันการอุดตันของท่อน้ำนม
มีวิธีในการดูแล ดังนี้

  • หัตถเวชกรรมแผนไทย
  • ประคบความร้อน