เช็คอาการปวดข้อศอก (Golfer’s & Tennis Elbow) 

อาการปวดที่บริเวณข้อศอก มักจะเกิดจากการใช้ที่มากเกินไป (overuse) ไม่ว่าจะจากการใช้ในชีวิตประจำวัน การเล่นกีฬาซ้ำๆเป็นเวลานาน โดยอาการปวดสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเอ็นบาดเจ็บ (tendon or ligament injury) การอักเสบของถุงน้ำ (bursitis) ข้ออักเสบ (arthritis) พังพืดขัดในข้อ (plica impingement) กระดูกอ่อนผิวข้อบาดเจ็บ (cartilage lesion) หรือภาวะเสื่อมของจุดเกาะเส้นเอ็น (tendinopathy เช่น tennis elbow หรือ golfer elbow) ลักษณะของอาการจึงมีได้หลายตำแหน่งและมักจะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้งานมือและแขนซึ่งมักส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
โรคข้อศอกเทนนิส (Tennis Elbow)
จะปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกเวลาขยับหมุนข้อศอก เวลาสะบัดข้อมือขึ้นแรง ๆ หรือเวลากำสิ่งของในมือ เช่น ลักษณะของการตีลูกเทนนิสแบ็กแฮนด์ เนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านนอก

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก พบในนักเทนนิสที่ตีแบคแฮนด์สะบัดข้อมือแรงๆและในนักกอล์ฟที่วงสวิงยังไม่ค่อยถูกต้อง เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบที่ข้อศอกด้านนอกซึ่งจะพบบ่อยกว่าด้านใน เนื่องจากกล้ามเนื้อด้านหลังแขนท่อนล่างที่ใช้ในการกระดกข้อมือและเหยียดนิ้วมือ เกิดการอักเสบ


โรคข้อศอกนักกอล์ฟ (Golfer’s Elbow)
จะปวดบริเวณข้อศอกด้านในเวลาบิดศอกเข้าด้านในและกระดกข้อมือลง เช่น ลักษณะของการสวิงกอล์ฟแรงๆ เนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านใน

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านใน มักพบในนักกอล์ฟที่ตีเก่งแล้ว ตีได้ไกล เนื่องจากไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องวงสวิง แต่ปัญหาเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินหรือบ่อยเกิน พบบ่อยบริเวณข้อศอกขวาด้านใน

อาการที่มักพบ

  • มีอาการปวดบริเวณปุ่มข้อศอก ด้านนอก/ด้านใน
  • มีอาการปวดมากขึ้นเมื่อยืดเหยียดข้อศอก
  • อาจมีอาการร้าวลงแขนและปลายแขน


การรักษา
ถ้ามีอาการปวดมากขึ้น ควรใช้หลักการรักษาด้วยการพัก (Rest) ใช้ความเย็นประคบ (Ice) ใช้ผ้ายืดพันป้องกันไม่ให้บวม (Compression) และวางข้อศอกสูงเวลานั่งหรือนอนโดยใช้หมอนรอง (Elevation) หลังจากผ่านระยะเฉียบพลันแล้ว อาการปวดน้อยลงและยุบบวมลงแล้ว จะแนะนำให้ทำการหัตถเวชหรือนวดกดจุดได้